WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดพิกุลทอง

อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์  วรวิหารไปประมาณ 9 กิโลเมตร ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์) ภายในวัดมี พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นอีกด้านหนึ่งของวัดนี้มีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค รอบ ๆ พระวิหารใหญ่มีวิหารคต ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่าง ๆ และพระสังกัจจายองค์ใหญ่ และบริเวณวัดยังมีสวนธรรมะ และสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ แวดล้อมด้วยบรรยากาศสงบร่มรื่น

การเดินทาง  ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3032 กิโลเมตรที่ 7-8 จะเห็นป้ายบอกทางไปวัดพิกุลทอง ไปตามถนนสาย 3008 ประมาณ 8 กิโลเมตร


วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารเป็นทีประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก มีความยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร (1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) ลักษณะพระพักตร์ หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก  นอกจากนี้ยังมี พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิด ทอง และพระแก้ว พระหล่อนั่งขัด   สมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ทั้งพระกาฬและพระแก้วสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประทานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนาผลิดอกบานสะพรั่ง หลายต้น ทางวัดยังมีการอบรมธรรมะและวิปัสสนาในวันที่ 4-10 ของทุกเดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3652 0251, 0 3654 3415  
นอกจากนั้นทางวัดยังมีบริการรถรางพาชมสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณวัด เช่น วัดหน้าพระธาตุ วังมัจฉา ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น.  

การเดินทาง รถยนต์ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 3032) ประมาณ 4 กิโลเมตร รถประจำทาง  มีรถสาย 648 สิงห์บุรี-บ้านดอนปรู, รถสาย 462 สุพรรณบุรี-โคกสำโรง และรถสองแถว ขึ้นที่ บขส.ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี ผ่านหน้าวัด

วัดหน้าพระธาตุ

อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดหน้าพระธาตุ  สันนิษฐานว่าสถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้ คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา ทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ภายหลังมีการเสริมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเพิ่มเติมเป็นซุ้มจรนัมทั้งสี่ด้าน ตั้งแต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทรงปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 

การเดินทาง รถยนต์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3032 เส้นสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี กิโลเมตรที่ 4 แล้วเข้าซอยเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี แยกจากปากทางเข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร รถประจำทาง  มีรถประจำทางผ่านเส้นทางเดียวกับวัดพระนอนจักรสีห์


วัดพระปรางค์มุนี
ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงหมู่ ตรงข้ามวิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ประมาณกิโลเมตรที่ 134-135 (ทางไปอำเภอพรหมบุรี) จะเห็นองค์พระปรางค์สี่เหลี่ยมสูงเด่น ใกล้กับองค์พระปรางค์เป็น วิหารหลวงพ่อเย็น พระพุทธรูปปูนปั้นศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยา ด้านข้างวิหารมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นกรุพระเก่าแก่ที่ทางวัดได้ขุดดินบริเวณนั้นมากลบวิหาร ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือชาวบ้านเขียนโดย นายเพ็ง คนลาว เมื่อราวปี พ.ศ. 2462 แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนรก สวรรค์  แต่ยังคงความงดงามไม่แพ้ที่อื่น

วัดอัมพวัน

ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมบุรี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 36 กิโลเมตรที่ 130 เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน มีพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธมโม) เป็นเจ้าอาวาส  การเดินทาง  รถประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-สิงห์บุรี หรือกรุงเทพฯ-อำเภอวัดสิงห์ มาลงที่ปากทางเข้าหน้าวัดอัมพวันแล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามายังวัด หรือหากมาจากอำเภอเมืองสิงห์บุรี สามารถขึ้นรถสองแถวสายสิงห์บุรี-วัดตราชู ที่ บขส. ในตัวเมือง มาลงที่หน้าวัด

วัดประโชติการาม 
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระบือ อยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ 5 กิโลเมตร เส้นทางหลวงหมายเลข 311 เส้นสิงห์บุรี–ชัยนาท (สายเก่า) ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ พุทธลักษณะงดงาม ศิลปะแบบสุโขทัยขนาดใหญ่ 2 องค์ คือ หลวงพ่อทรัพย์ สูง 6 วา 7 นิ้ว และหลวงพ่อสิน สูง 3 วา 3 ศอก 5 นิ้ว ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป

วัดโบสถ์

ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทร์บุรี ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 311 เส้นสิงห์บุรี-อินทร์บุรี (สายเก่า) กิโลเมตรที่ 14-15 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวง เดิมเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระอุโบสถเป็นเพียงแห่งเดียวที่สร้างโดยใช้รางรถไฟเป็นแกนกลาง ข้างล่าง และที่น่าสนใจคือการแกะสลักบานประตูหน้าต่างโบสถ์ทั้งหลัง โดยช่างที่มีฝีมือแกะสลักของเมืองสิงห์บุรี คือ ช่างชื่น  หัตถโกศล ภายในโบสถ์มีพระประธานที่เก่าแก่ พุทธลักษณะที่งดงามมาก ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ได้รับการบูรณะใหม่


วัดม่วง
ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทร์บุรี ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากมาจากถนนสายเอเชีย ห่างจากตัวตลาดอินทร์บุรีมีทางเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณปี พ.ศ. 2365 เดิมนั้นมีต้นมะม่วงอยู่มากจึงเรียกว่า “วัดม่วง”  ภายในวัดมีวิหารเก่าแก่เป็นอาคารปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นออกมา ที่หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่าง ๆ ในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานที่พุทธลักษณะงดงาม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีรูปฐานสิงห์ มีฐานบัวขนาดใหญ่รองรับ เพดานประดับด้วยลายเขียนรูปดาว มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้านสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตลอดจนแสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมของสังคมโบราณในระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

วัดกุฎีทอง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ในเขตตำบลบางน้ำเชี่ยว ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ 400 เมตร หรือเส้นทางหลวงหมายเลข 32 กิโลเมตรที่ 125-126 ภายในวัดมีมณฑปลักษณะเหมือนเจดีย์ ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 โดยหลวงพ่อปัญญา อุตมะพิชัย เจ้าอาวาส ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดและภายในมณฑปนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระ พุทธบาทโลหะจำลองไว้เป็นที่เคารพสักการะ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดกุฎีทองยังมี ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวน ซึ่งได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของชาวไทยพวน เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องมือ ทำนา ดักสัตว์ จับปลา ตลอดจนยวดยานพาหนะทางน้ำเป็นของเก่าแก่ไว้ให้ชมอีกด้วย ติดต่อขอเข้าชมได้ที่ เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกุฎีทอง ศูนย์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น.